หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้นคือวันครบรอบ 20 ปีของเกม Counter-Strike 1.0 ซึ่งเป็น MOD ของเกม Half-Life ที่ออกมาให้เล่นในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1999 และมีคนเล่นมากที่สุดในโลก จนทาง Valve ไปซื้อสิทธิ์หยิบมาพัฒนาต่อและวางจำหน่ายเป็นเกมแยกในปีต่อมา ซึ่งก็มีออกมาอีกต่อเนื่องเรื่อยๆ ทั้ง Counter-Strike: Condition Zero, Counter-Strike: Source, Counter-Strike Online จนปัจจุบันก็ยังมี Counter-Strike: Global Offensive หรือ CSGO ให้เล่นกันอยู่บน PC Steam นั่นเอง


เกม FPS ระดับตำนานที่ร้านอินเตอร์เน็ตทุกร้านต้องมี
Counter-Strike ในปลายยุค 90 จัดว่าเป็นเกม FPS ที่มาแรงมากๆ มันคือราชาของเกม FPS ในสมัยนั้นที่ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ทุกที่จะต้องมีเกมนี้ลงไว้ให้เล่น ในยุคที่ร้านอินเตอร์เน็ตเปิดกันเป็นดอกเห็ด ทั้งหน้าโรงเรียน หน้ามหาลัย จะเต็มไปด้วยเด็กนักเรียนผู้ชายที่จับกลุ่มกันไปเล่นจนเต็มร้าน และแน่นอนว่าเด็กยืนเกาะเบาะที่นั่งก็เพียบเช่นกัน... ในยุคที่ยังไม่มีเกมแนว FPS ให้เลือกกันมากนัก จะมี Unreal Tournament ที่ภาพเป็น 3D เลือดสาดหน่อยแต่ก็ดูจะแฟนตาซีประหลาดเกินไป ทำให้ Counter-Strike ที่เป็นการแบ่งฝ่ายสู้กันเข้าใจง่ายๆ ระหว่าง โจร (terrorists) และ ตำรวจ (counter-terrorists) จึงเป็นเกมที่น่าเล่นกว่าเยอะ

สูตรการกดซื้อปืนที่หลายคนยังจำได้ถึงทุกวันนี้
อีกอย่างที่อยู่คู่กับเกมก็คือเรื่องของอาวุธปืน ระบบการซื้อปืนในเกมนั้นเมื่อเริ่มเล่นจะให้เรากดเข้าร้านค้าและเลือกซื้อปืน ระเบิด เกราะ ซึ่งอาวุธของฝ่ายโจรกับตำรวจจะมีไม่เหมือนกัน แต่ถ้าให้เอาเม้าส์มากดเลือกทีละเมนูมันคงช้าไม่ทันการณ์ แน่นอนมันมีคีย์ลัดให้กดอย่างรวดเร็วและถ้าไปถามเกมเมอร์หนวดยุค 90 เชื่อเถอะว่าบางคนยังจำคีย์ลัดได้อยู่เลย ไม่ว่าจะเป็น B-14, B-31, B-44, B-46 หรือถ้าชนะมาหลายตาแล้วรวยจัดก็ซัด B-51 ไปเลย แล้วก็ไม่รู้เป็นอะไรถ้าเกิดเห็นเพื่อนกดซื้อปืนเร็วๆ แล้วมันเป็นอะไรที่เท่จัดๆ เอาเป็นว่าอ่านถึงตรงนี้ใครงงว่ามันเลขอะไรฟ่ะ บอกให้อันเดียวก็ได้ว่า B-46 คือสไนเปอร์นัดเดียวดับ..

ด่าน Untitled
แผนที่ในเกม Counter-Strike มีให้เล่นเยอะมาก ก็เหมือนๆ กับเกม FPS ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเล่นแบบ Deathmatch ตายแล้วฟื้นมายิงต่อรัวๆ ก็จะเล่นฉากโกดังหรือ Assualt ที่ใครไปประตูด้านหลังก็เจอปาระเบิด ใครโผล่ช่วงระบายอากาศบนหลังคาก็โดนสไนเปอร์ส่อง หรือถ้าเล่นฉากวาง-กู้ระเบิดก็จะเล่น Italy ที่มีสามแยกอันคุ้นเคยกับมีไก่ให้ยิงเล่น หรือ de_dust ที่ไม่รู้ทำไมชอบไปซุ่มกันอยู่แต่บนสะพาน จากที่ยกมาทั้งหมดมันมีด่านอยู่ด่านหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ซึ่งก็คือ Untitled ที่ทุกคนพร้อมใจกันเรียกว่า ‘ยูไนเต็ด’ ทั้งๆ ที่ชื่อมันอ่านว่า "อันไตเติล" ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มเรียกแล้วมันไปอ่านเหลี่ยมไหนถึงออกมาเป็นอย่างนั้นได้ ??

เสียงพากย์ไทยในเกม
Counter-Strike นับว่าเป็นอีกเกมในยุคนั้นที่ถูกดัดแปลงหรือแก้ไขกันจนพรุน ชนิดที่ว่าในเกมมีเสียงพากย์ไทยอยู่ด้วย คิดดูก็แล้วกัน !! ซึ่งปกติแล้วเสียงต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษในเกมก็จะมีอยู่แค่เพียงไม่กี่ประโยคอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะถูกแก้ไขไฟล์เสียงใส่เข้าไปในเกม แถมเสียงพากย์ไทยก็ไม่ได้มีแค่แบบธรรมดาด้วย บอกเลยมาหมดทั้งอีสาน ทั้งเสียงปักษ์ใต้ เล่นเอาฮาท้องแข็งไปเลยก็มี เอาประโยคเสียงพากย์คลาสสิกเลยก็เช่น "พร้อมจะลุยกันมานานแล้ว", เอาระเบิดไปกินนนน" เป็นต้น
ทีม esport ระดับตำนาน
อย่างที่บอกว่า Counter-Strike มันคือเกม FPS ที่ร้านอินเตอร์เน็ตทุกร้านมีให้เล่น และหลายๆ ร้านก็มักจะจัดแข่งกันเพื่อเรียกลูกค้า สมัยก่อนส่งตัวแทนแต่ละร้านมาแข่งกันในจังหวัดก็มี บอกเลยนี่แหละ esport แห่งยุค 90 ตีคู่มากับ Red Alert จนก่อกำเนิดทีมโครตโหดของประเทศไทยอย่าง Nearly God ที่เป็นอันหนึ่งในไทยและเดินทางไปแข่ง WCG หรือ World Cyber Game ในต่างประเทศที่เปรียบเหมือนกับโอลิมปิคของเกมในสมัยนั้นก็ว่าได้ และอีกหลายรายการที่ต้องบินไปแข่งในต่างประเทศ จนคว้าแชมป์สร้างชื่อเสียงมามากมาย ซึ่งสมาชิกในทีมก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ยกตัวอย่างที่ทุกคนรู้จักกันดีในปัจจุบันนี้ก็คือ Viper Demon ที่ยังมีแข่งเกมอยู่บ้างกับผันตัวเองมาเป็นสตรีมเมอร์ และ Voo กูรูนักพากย์เกม FPS ที่ทำงานในส่วนของผู้จัดการทีมช่วยวางแผนให้กับทีมชื่อดังหลายทีม เป็นต้น

และทั้งหมดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของตำนานเกม FPS อย่าง Counter-Strike ที่เพิ่งจะครบรอบ 20 ปีไปหมาดๆ ซึ่งเราขอหยิบมารำลึกความหลังกันซักเล็กน้อย ถึงแม้เกมเมอร์ในยุคปัจจุบันหลายคนอาจจะเกิดไม่ทัน แต่ก็ยังจะพอไปหามาเล่นกันได้ หรือใครที่เล่น CSGO อยู่แต่อาจจะไม่รู้มาก่อน เขียนมาจนถึงตรงนี้ถ้าใครจำทุกเรื่องที่เราเขียนไปได้ แสดงว่าคุณอายุไม่น้อยแล้วนะคร้าบบบบบ !!