เมื่อพูดถึงเกมสยองขวัญในยุค PlayStation 1 เชื่อว่าหลายคนน่าจะคิดถึงเกมถิ่นที่อยู่ของความชั่วร้ายอย่าง Resident Evil แบบไม่ต้องสงสัย และตัวเกมซีรีส์นี้ก็เป็นเหมือนหมุดหมายที่ทำให้ค่ายเกมหลายเจ้าหันมาทำเกมแนวสยองขวัญโดยการใช้กราฟิก 3D แบบ Resident Evil เพื่อลงบนเครื่องเกมตัวใหม่ หนึ่งในนั้นก็คือซีรีส์หอนาฬิกาแห่งความตายอย่าง Clock Tower ที่กระโดดลงมามีส่วนร่วมในตลาดนี้ด้วย ซึ่งใครหลายคนน่าจะรู้จักเกม Clock Tower จากภาคนี้มากว่าภาคต้นฉบับที่ลงบนเครื่อง Super Famicom แน่นอน และวันที่ 10 ตุลาคม 1997 คือวันครบรอบ 27 ปีเกม Clock Tower ที่วางจำหน่ายนอกประเทศญี่ปุ่นบนเครื่อง PlayStation 1 เรามาย้อนอดีตดูเรื่องราวนี้ไปพร้อม ๆ กันเลย
โดยที่มาที่ไปของเกม Clock Tower หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า Clock Tower 2 นั้น ในตอนแรกผู้กำกับ ฮิเดฟูมิ โคโนะ ไม่สนใจที่จะพัฒนาภาคต่อของเกม Clock Tower เวอร์ชันดั้งเดิม แต่พอตัวเกมเปลี่ยนถ่ายจาก Super Famicom มาบนเกมกราฟิก 3D คุณโคโนะเลยมีปัญหาในการเลือกแพลตฟอร์มที่จะพัฒนาเกม ซึ่งสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลือก PlayStation ที่แม้ทีมงานจะไม่ค่อยมั่นใจในรูปแบบกราฟิก 3D ในการทำเกมแนว Point and click horror แต่ทีมงานรู้สึกท้าทายในการสร้างกราฟิกคุณภาพสูงหลังจากประทับใจกับภาพกราฟิกของ Resident Evil ซึ่งในตอนนั้นตัวเกมนี้กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา
สำหรับคนที่ไม่รู้จักตัวเกม Clock Tower ดั่งเดิมเป็นเกมผจญภัย แบบเลื่อนจุดที่เราจะไปเหมือนเลื่อนเมาส์แต่เกมนี้จะเปลี่ยนจากฉาก 2D แบบในภาคก่อนมาเป็นกราฟิก 3D ที่ผู้เล่นสามารถใช้คอนโทรลเลอร์ของ PlayStation หรือเมาส์ที่ขายแยกเพื่อเลื่อนเคอร์เซอร์บนหน้าจอ โดยตัวเคอร์เซอร์จะเปลี่ยนรูปร่างเมื่อวางไว้เหนือวัตถุบางอย่าง ซึ่งผู้เล่นสามารถคลิกเพื่อโต้ตอบได้ และถ้าเราคลิกที่ตำแหน่งใด ๆ จะนำตัวละครของผู้เล่นไปในทิศทางนั้น ส่วนการเลื่อนเคอร์เซอร์ไปที่ด้านบนของหน้าจอจะแสดงของที่ผู้เล่นมี
ในส่วนของพลังชีวิตจะบอกผ่านเคอร์เซอร์บนจอ ซึ่งปกติจะเป็นสีขาว แต่จะกะพริบเป็นสีเหลืองหรือสีแดง ตามความแข็งแกร่งที่จะลดลงหลังจากการถูกโจมตีจาก Scissorman หรือความกดดันที่ตัวละครได้เจอ และจะมรการฟื้นตัวขึ้นตามเวลา แต่เมื่อชีวิตของตัวละครตกอยู่ในอันตราย เคอร์เซอร์จะกะพริบสีแดง ซึ่งบ่งชี้ถึงโหมดตื่นตระหนก โดยในเกมภาคนี้เราสามารถเลื่อนพลักหรือปาสิ่งของเพื่อป้องกันตัวได้ เพื่อทำให้ Scissorman ถอยหนีเท่านั้น ซึ่งพออยู่ในโหมดหลบหนีพลังชีวิตและความตื่นเต้นจะไม่หายไป จนกว่า Scissorman จะถูกบังคับให้ถอยหนีด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่หากความแข็งแกร่งของผู้เล่นลดลงถึงศูนย์ ที่อาจจะหมายถึงทนความกดดันไหวหรือถูกโจมตีที่รุนแรง เกมจะจบลงและผู้เล่นต้องดำเนินการต่อจากห้องสุดท้ายที่เข้าไป แทนการเล่นใหม่จากที่สุดท้ายที่เซฟแบบภาคก่อน
ในส่วนของเนื้อเรื่องจะเป็นการสานต่อจากภาคที่แล้ว กับตัวละครคนเดิมนั่นคือ เจนนิเฟอร์ ซิมป์สัน ตัวเอกที่รอดชีวิตมาจากฆาตกโรคจิตที่ไล่ฆ่าเธอในภาคก่อน โดยในภาคนี้เจนนิเฟอร์ได้รับการรับเลี้ยงโดย เฮเลน แม็กซ์เวลล์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาอาชญากรรมในออสโลประเทศนอร์เวย์ เจนนิเฟอร์เริ่มเข้ารับการบำบัดที่อาคารวิจัยของมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม Scissorman ที่คฤหาสน์บาร์โรว์ เพื่อช่วยให้เธอจัดการกับความเจ็บปวดทางใจของเธอได้
เวลาผ่านไปราว ๆ หนึ่งปีจู่ ๆ ก็มีข่าวคดีฆาตกรรมอันโหดร้ายเกิดขึ้นบนหน้าหนังสือพิมพ์ ที่ดูเหมือนว่า Scissorman มันยังไม่ตายและมันกลับมาแล้ว เมื่อได้ยินรายละเอียดเกี่ยวกับการเผชิญหน้าครั้งแรกของเจนนิเฟอร์กับ Scissorman เฮเลนจึงเริ่มค้นหาข้อมูลที่อาจฆ่าเจ้าฆาตกรนี้ได้ และตอนนี้เจ้า Scissorman ก็กำลังตามหาเจนนิเฟอร์เพื่อจะแก้แค้น โดยตัวเกมภาคนี้จะมีความพิเศษกว่าภาคก่อน ตรงที่เราจะสามารถเล่นเป็นหลายตัวละครที่จะได้เจอเหตุการณ์ไล่ล่าของ Scissorman ก่อนจะปูทางมาหาเจนนิเฟอร์ นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาคนี้
ในส่วนของการวิจารณ์ เกม Clock Tower ภาคนี้ได้รับคะแนน 72% จาก GameRankings ซึ่งเป็นเว็บไซต์ รวบรวมคะแนนในสมัยนั้น ทาง GameSpot กล่าวว่า "ตัวเกมให้ความรู้สึกเหมือนเป็นภาพยนตร์สยองขวัญแบบโต้ตอบได้อย่างแท้จริง" ส่วนทาง Gamezilla เปรียบเทียบ Scissorman ในเชิงบวกกับตัวร้ายในหนังสยองขวัญอย่าง Freddy Krueger และ Michael Myers แถมยังบอกว่าบรรยากาศของ Clock Tower นั้นเทียบได้กับภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องใด ๆ ที่เคยสร้างมาเลยทีเดียว ในส่วนของยอดขายเกม Clock Tower ภาคนี้ขายได้เกือบครึ่งล้านชุด ซึ่งประสบความสำเร็จมากพอที่จะทำให้ทาง Human ให้โบนัสกับพนักงานทุกคน ๆ ละ 100,000 เยนต่อเลยทีเดียว ส่วนคุณโคโนะก็ยกเครดิตความสำเร็จนี้บางส่วนให้กับ Resident Evil ที่ทำให้เกิดเกมนี้ขึ้นมา
ใครที่สนใจอยากเล่นก็ไม่ต้องเสียเวลาไปหาเลย เพราะขนาดแผ่นละเมิดลิขสิทธิ์ยังหาได้ยาก แผ่นแท้มือสองราคาจึงไปไกลมาก ๆ ใครที่อยากเล่นเกมนี้จริง ๆ ก็ไปเล่น Clock Tower Rewind ที่เป็นการเอาเกม Clock Tower ภาคแรกมาทำใหม่ด้วยกราฟิกที่สวยงามขึ้น แต่ยังคงการเล่นแบบเดิมเอาไว้อันนั้นจะดีกว่ามาเล่นภาคนี้ ที่เหมาะจะเป็นเกมสะสมมากกว่าเอามาเล่น เพราะกราฟิกระบบการเล่นที่เก่าจึงไม่ค่อยแนะนำให้เอามาเล่นเพราะมันไม่สนุกน่าสนใจเท่าภาคแรก แค่เรารู้ว่ามีเกมนี้อยู่ก็พอ